บริบทพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

             อำเภออู่ทองอยู่ด้านทิศตะวันตกของจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ประมาณ 641 ตารางกิโลเมตร ประชาชนร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทำการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด ปัจจุบันอำเภออู่ทองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลกระจัน ตำบลจรเข้สามพัน ตำบลเจดีย์ ตำบลดอนคา ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลบ้านโข้ง ตำบลบ้านดอน ตำบลพลับพลาไชย ตำบลยุ้งทะลาย ตำบลสระพังลาน ตำบลสระยายโสม ตำบลหนองโอ่ง และตำบลอู่ทอง แต่เมื่อแบ่งพื้นที่อำเภออู่ทองตามลักษณะภูมิประเทศจะทำให้สามารถแบ่งพื้นที่อำเภออู่ทองอย่างชัดเจนออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนภูเขาด้านตะวันตก และโซนพื้นที่ราบลุ่มซึ่งอยู่ด้านตะวันออก โดยมีรายละเอียดของพื้นที่อำเภออู่ทองดังนี้
             1) พื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ จะอยู่ด้านตะวันออกของอำเภอตลอดแนวจากด้านเหนือจรดด้านใต้ มีแม่น้ำจรเข้สามพันไหลผ่านเหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะข้าวนาปรังเนื่องจากอยู่ในเขตชลประทาน แต่บางพื้นที่ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำท่วมขังสูง ได้แก่ พื้นที่ในเขตตำบลอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน ตำบลสระยายโสม ตำบลสระพังลาน ตำบลดอนมะเกลือ ตำบลยุ้งทลาย และตำบลเจดีย์
             2) พื้นที่ภูเขาสลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น อยู่ด้านตะวันตกยาวขึ้นไปถึงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ภูเขาทั้งหมดเป็นป่าเบญจพรรณที่มีสถานภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ประกอบด้วย เขาทุ่งดินดำ เขาพุทอง เขาตาเก้า เขาโกปิดทอง เขาพระ และเขารางกะเปิด รวมพื้นที่ 46,734 ไร่ และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจัดทำป่าชุมชนจำนวน 13 แปลง ประกอบด้วย ป่าชุมชนบ้านจร้าใหม่ ป่าชุมชนบ้านทุ่งดินดำ ป่าชุมชนบ้านหนองตาลัย ป่าชุมชนบ้านเขาวงศ์ ป่าชุมชนบ้านหนองการ้อง ป่าชุมชนบ้านเขาทอก ป่าชุมชนบ้านทรัพย์พุทองห้วยคู้ ป่าชุมชนบ้านห้วยหิน ป่าชุมชนบ้านพวน ป่าชุมชนบ้านศรีสรรเพชญ์ ป่าชุมชนบ้านเขาพระ ป่าชุมชนบ้านเนินสมบัติ และป่าชุมชนบ้านหนองบัว รวมพื้นที่ป่าชุมชนทั้ง 13 แปลง จำนวน 12,308 ไร่ พื้นที่ภูเขามีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ระหว่าง 50-250 เมตร โดยสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 3 (ปทุมธานี) ได้เข้าสำรวจและศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาในเขตตะวันตกของอำเภออู่ทอง ทำให้ทราบว่าพื้นที่บริเวณโดยรอบเป็นหินยุคออร์โดวิเชียน (ordovician rocks) ที่มีอายุประมาณ 505-438 ล้านปี เช่น บริเวณวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม วัดเขาถ้ำเสือ และวัดเขาดีสลัก (กรมทรัพยากรธรณี, 2557) จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้อำเภออู่ทองเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน พบร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี อายุประมาณ 1,500-2,500 ปี ภายในเมืองโบราณอู่ทอง (พนมบุตร จันทรโชติ และคณะ, 2550) อีกทั้งในพื้นที่อำเภออู่ทองมีชาวไทยเชื้อสายลาวอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ ลาวเวียง ลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) และลาวครั่งซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นในปัจจุบันอำเภออู่ทองส่วนหนึ่งถูกยกให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อพัฒนาฟื้นฟูเมืองโบราณให้กลับมาสู่ความรุ่งเรือง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี                                                              


ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

             จากความหลากหลายของลักษณะภูมิประเทศของอำเภออู่ทองที่มีทั้งระบบนิเวศภูเขาหินปูนและพื้นที่ราบลุ่มจึงพบชนิดพันธุ์พืชทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ทั้งหมด 215 ชนิด 173 สกุล 72 วงศ์ โดยวงศ์พันธุ์ไม้ที่พบมากที่สุดคือวงศ์ FABACEAE พบชนิดพันธุ์พืชทั้งสิ้น 30 ชนิด นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวมากถึง 9 ชนิด กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอู่ทอง ได้แก่ กะเพราหินปูน จอกหินตะนาวศรี เทียนกาญจน์ มหาพรหม มะกัก มะลิสยาม อรพิม ม่วงไตรบุญ และหุน และพบพืชหายาก 2 ชนิด คือ คำมอกหลวง และธนนไชย

             ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำการศึกษาโดยคัดเลือกและวางแนวสำรวจให้เป็นตัวแทนถิ่นอาศัยที่สำคัญครอบคลุมสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์ปีกและปลา รวมทั้งที่สำรวจพบเห็นด้วยตาเปล่าและจากร่องรอยต่างๆ ผลการสำรวจพบสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด 129 ชนิด สามารถแยกออกเป็นกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมจำนวน 9 ชนิด กลุ่มเลื้อยคลานจำนวน 10 ชนิด กลุ่มสะเทินน้ำสะเทินบกจำนวน 6 ชนิด กลุ่มสัตว์ปีกจำนวน 67 ชนิด และกลุ่มปลาจำนวน 37 ชนิด

             ความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบแบคทีเรียจำนวน 16 ชนิดอยู่ใน 10 สกุล ยีสต์จำนวน 22 ชนิดอยู่ใน 13 สกุล และมีความหลากหลายของเห็ดและราขนาดใหญ่ที่จำแนกชนิดแล้วทั้งหมด 48 ชนิดกระจายอยู่ใน 40 สกุล 19 วงศ์ 10 อันดับ ส่วนใหญ่พบอยู่ในอันดับ Agaricales เป็นจำนวน 25 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 52 ของจำนวนเห็ดที่พบทั้งหมด

             ปราชญ์ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถแยกภูมิปัญญาท้องถิ่นออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย กลุ่มภูมิปัญญาด้านเทคโนโลยีพื้นบ้าน จำนวน 22 คน ด้านการดูแลสุขภาพพื้นบ้านจำนวน 7 คน และด้านโภชนาการพื้นบ้านจำนวน 1 คน

 

จรัญ ประจันบาล และคณะ

สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

5 กรกฎาคม 2561